รายการบล็อกของฉัน

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

เลขากับมารยาททางสังคม


เลขานุการกับมารยาททางสังคม


               การเป็นเลขานุการ เราต้องพบกับคนมากหน้าหลายตา พื้นฐานแตกต่างกัน เพราะฉนั้นเราควรต้องรู้มารยาททางสังคมไว้บ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน มารยาท หรือ มรรยาท หมายถึง กิริยาวาจาที่ถือว่าสุภาพเรียบร้อย ถูกกาละเทศะ ส่วนคำว่า มารยาทในสังคม จะหมายถึง กรอบหรือระเบียบแบบแผนที่ควรประพฤติหรือควรละเว้นในส่วนที่เกี่ยวกับผู้อื่น รวมทั้งชุมชนหรือคนหมู่มาก โดยเหตุที่มนุษย์เราไม่สามารถอยู่ลำพังคนเดียวในโลกได้ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่มากก็น้อย ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมีกฎกติกากำหนดแบบแผนในการอยู่ร่วมกัน ซึ่งทุกชาติทุกประเทศต่างก็มีแบบอย่างทางวัฒนธรรมที่เรียกกันว่า มารยาททางสังคมนี้ทั้งสิ้น เพียงแต่รายละเอียดอาจจะแตกต่างกันบ้าง อย่างไรก็ดี ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีปัจจุบัน อาจทำให้คนสมัยนี้หันไปพึ่งพาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง อันเป็นเหตุให้ละเลยหรือเพิกเฉยต่อมารยาทที่พึงมีต่อกัน แต่สิ่งเหล่านี้ ก็ยังจำเป็นต่อการอยู่ร่วมกันในทุกสังคม และนี่คือเกร็ดความรู้ และประโยชน์ในทางปฏิบัติ -การกล่าวคำว่า “ ขอบคุณ ” เมื่อผู้อื่นให้สิ่งของ /บริการ หรือเอื้อเฟื้อทำสิ่งต่างๆให้ไม่ว่าจะโดยหน้าที่ของเขาหรือไม่ก็ตาม เช่น บริกรเปิดประตูให้ คนลุกให้นั่งหรือช่วยถือของให้เราในรถประจำทาง คนช่วยกดลิฟท์รอเรา หรือช่วยหยิบของที่เราหยิบไม่ถึงให้ เป็นต้น โดยปกติจะใช้คำว่า “ ขอบคุณ ” กับผู้ที่อาวุโสกว่า และใช้คำว่า “ ขอบใจ ” กับผู้อายุน้อยกว่าเรา แต่ปัจจุบันมักใช้รวมๆกันไป


มารยาททางสังคมในการทำงาน
   
1.1 การแนะนำและการต้อนรับผู้อื่น  
ในการแนะนำผู้อื่น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้า) ให้รู้จักกับองค์กรของเราเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นที่จะต้องให้ข้อมูลและรายละเอียดพื้นฐานขององค์กรให้ถูกต้อง ชัดเจน เลขานุการจะต้องแม่นยำในเรื่องของข้อมูลองค์กรในการตอบคำถามกับผู้อื่นเสมอ ไม่ควรตอบคำถามด้วยคำว่า ไม่ทราบหรือตอบด้วยความไม่แน่ใจ อึกอึก อักอัก จนทำให้ไม่น่าเชื่อถือ และทำให้พลาดโอกาสดีๆ ที่จะประชาสัมพันธ์องค์กร

สำหรับการต้อนรับผู้มาติดต่อ ดังที่ทราบกันว่าเลขานุการจะต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก แตกต่างกันไปทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ จึงจำเป็นจะต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ว่าด้วยการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนเหล่านั้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือที่ดีต่อกันในการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย เลขานุการที่ดีต้องไม่กีดกันผู้มาติดต่อยกเว้นได้รับคำสั่งจากเจ้านายเท่านั้น เลขานุการจะต้องมีปฏิภาณไหวพริบพิจารณาได้ว่าผู้มาติดต่อคนไหนที่เจ้านายไม่พึงประสงค์จะให้พบ แล้วกล่าวปฏิเสธกับคนๆ นั้นอย่างสุภาพและนุ่มนวล เช่นว่า ท่านไม่อยู่นะคะ/ครับ ไปประชุมข้างนอกหรือไปต่างจังหวัดหรือไปต่างประเทศ จะให้ดิฉัน/ผมช่วยอะไรได้บ้างคะ/ครับ หรือจะฝากเรื่องไว้ที่ดิฉัน/ผมก่อนดีไหมคะ/ครับ หากท่านกลับมาแล้วจะเรียนให้ท่านทราบนะคะ/ครับ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรยึดถือในการให้การต้อนรับผู้มาติดต่อก็คือ ความสุภาพ ความนุ่มนวล การแสดงความเป็นมิตร การให้ความสำคัญและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมกับทุกๆ คนไม่ว่าจะเป็นเด็กส่งเอกสารหรือแขกผู้ใหญ่อย่างเท่าเทียมกัน เช่นว่า หากผู้มาติดต่อจะต้องรอนานก็ควรจะเชิญให้เขานั่งอ่านหนังสือพิมพ์รอและบริการเครื่องดื่มให้เขาตามความเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นเด็กส่งเอกสารหรือแขกผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อให้เขามีความรู้สึกว่าเราให้เกียรติเขา เขาก็จะเกิดความประทับใจ หากเกิดความประทับใจแล้วก็ย่อมอยากติดต่อกับเราเสมอ แต่หากไม่ประทับใจแล้วก็อาจจะเลิกราความสัมพันธ์กับเราไปได้ ทำให้องค์กรของเราสูญเสียโอกาสและลูกค้าไปได้

1.2 การให้และรับนามบัตร
ในบางโอกาสที่เราต้องแนะนำตัวเองและองค์กรกับคู่สนทนา นอกจากจะสนทนากันเพียงอย่างเดียวเราอาจจะมีการแลกนามบัตรกับคู่สนทนาของเราไปด้วยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้กับองค์กร โดยกล่าวด้วยความสุภาพว่า ขออนุญาตให้นามบัตรดิฉัน/ผมไปด้วยนะคะ/ครับ เผื่อจะมีโอกาสติดต่อกันบ้างคะ/ครับ

และเมื่อเราได้รับนามบัตรจากคู่สนทนา หากเป็นคู่สนทนาที่อาวุโสมากกว่าเราก็ควรยกมือไหว้และกล่าว ขอบพระคุณมากค่ะ/ครับ หากเป็นคู่สนทนาที่อยู่ในวัยใกล้เคียงกันหรืออ่อนกว่าก็ควรกล่าว ขอบคุณมากค่ะ/ครับ พร้อมกับให้ความสนใจดูนามบัตรที่รับมาสักเล็กน้อยเพื่อแสดงความสนใจและยินดีที่ได้รู้จักกับเขาจริงๆ

1.3 การสนทนา  
ในการสนทนาสิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ การพูดจาจะต้องไพเราะ มีหางเสียง พูดด้วยความอ่อนน้อม ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และจะต้องเป็นนักฟังที่ดี ไม่ควรพูดแทรกในระหว่างที่คู่สนทนากำลังพูดอยู่ และไม่ควรพูดเจื้อยแจ้วเรื่อยเปื่อยเพราะจะดูไร้สาระเกินไป
1.4 การประชุม
ในเรื่องของงานประชุมเรียกได้ว่าเป็นงานหลักของเลขานุการที่จะต้องดูแลความเรียบร้อยโดยตรงนับตั้งแต่เริ่มต้นไปจนจบการประชุม เลขานุการจะต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมการประชุมทุกครั้งเพื่อให้การประชุมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี โดยลำดับขั้นตอนดังนี้

1. นัดวัน/เวลาประชุม
เริ่มต้นด้วยการโทรศัพท์เช็ควัน/เวลาที่จะประชุมกับผู้ที่จะเข้าประชุมแต่ละคนว่าสะดวกตรงกันหรือไม่     ในบางคราวอาจจะสะดวกตรงกันทั้งหมด แต่บางคราวอาจจะมีปัญหา เลขานุการจะต้องพิจารณาวัน/เวลาให้เหมาะสมและสะดวกกับผู้เข้าประชุมทุกคน ทั้งนี้ เพื่อให้การประชุมดำเนินไปได้โดยครบองค์ประชุม

2. จัดทำวาระประชุม
เพื่อให้การประชุมดำเนินไปอย่างเป็นขั้นตอนและอยู่ในกรอบ ไม่ตกหล่นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณา

3. จัดเตรียมเอกสารการประชุม
สำหรับการจัดเตรียมแฟ้มเอกสารเพื่อใช้แจกผู้เข้าประชุมในแต่ละครั้งซึ่งปกติจะประกอบด้วย รายงานการประชุมครั้งที่ผ่านมา วาระการประชุมครั้งใหม่ เอกสารประกอบการพิจารณา พร้อมทั้งกระดาษเปล่า ดินสอหรือปากกา เลขานุการควรจัดเตรียมไว้ให้เรียบร้อยก่อนวันประชุมเสมอ และหากบางคราวที่จะต้องไปประชุมภายนอกองค์กรควรจะต้องสำรองไว้ด้วยเผื่อมีเหตุฉุกเฉินเอกสารไม่เพียงพอหรือสูญหาย

4. ออกจดหมายเชิญประชุม
เมื่อกำหนดวันประชุมเรียบร้อยแล้ว เลขานุการควรจัดทำจดหมายส่งเป็นหลักฐานยืนยันการเรียนเชิญประชุมให้กับผู้เข้าประชุมทุกคนทราบวัน เวลา สถานที่ และวาระประชุม ล่วงหน้าก่อนวันประชุม 1 สัปดาห์

5. โทรศัพท์ยืนยันการประชุม
ก่อนวันประชุมประมาณ 2 วันเลขานุการควรจะโทรศัพท์ยืนยันการประชุมกับผู้เข้าประชุมอีกครั้งเพื่อย้ำเตือนก่อนการประชุม

6. จัดเตรียมสถานที่ที่จะประชุม
ก่อนวันประชุมควรดูแลเรื่องสถานที่ประชุมให้เรียบร้อยทั้งห้องประชุม โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องปรับอากาศ แสง หรือเครื่องเสียง (หากต้องใช้) ห้องน้ำ สถานที่จอดรถ รวมทั้งภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่จะใช้รับรองผู้เข้าประชุม (กรณีที่จัดประชุมในองค์กร) ซึ่งการดูแลในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ที่เราจะละเลยไม่ได้ เพราะเราคือเจ้าภาพ เจ้าภาพที่ดีควรมีความพร้อมในการรับรองแขก หากเราจัดการสภาพแวดล้อมทุกสิ่งทุกอย่างได้เรียบร้อยการประชุมก็จะราบรื่นไปได้ด้วยดี

7. จัดวางเอกสารการประชุม
ในส่วนของการจัดวางเอกสารการประชุม ควรจัดวางกระดาษ ดินสอหรือปากกาไว้บนโต๊ะประชุมให้เรียบร้อยก่อนเริ่มการประชุม ส่วนเอกสารการประชุมควรเตรียมไว้รอแจกผู้เข้าประชุมตอนเริ่มประชุมเนื่องจากเอกสารการประชุมในบางครั้งอาจเป็นเรื่องลับเฉพาะ โดยมารยาทเราก็ควรเก็บรักษาไว้เป็นความลับเฉพาะในที่ประชุมเท่านั้น

8. รับรองผู้เข้าประชุม
สำหรับการรับรองผู้เข้าประชุมหากใช้เวลาในการประชุมไม่มากนักเราควรจัดเลี้ยงด้วยอาหารว่างที่รับประทานได้ง่ายๆ เช่น แซนวิชหรือคุกกี้หรือขนมปังชิ้นพอดีคำ ไม่ต้องตัดลำบาก เสริฟกับเครื่องดื่มประเภทน้ำชา/กาแฟ แต่หากการประชุมใช้เวลานานจนคาบเกี่ยวมื้ออาหารกลางวันหรืออาหารเย็นก็อาจจะต้องเลี้ยงอาหารในมื้อคาบเกี่ยวนั้นด้วย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณสำหรับการจัดประชุมของแต่ละองค์กร อย่างไรก็ตาม เราควรใส่ใจรับรองผู้เข้าประชุมทุกคนโดยไม่ขาดตกบกพร่อง หากสามารถจดจำได้ว่าผู้เข้าประชุมคนไหนชอบดื่มเครื่องดื่มประเภทใด เติมอะไรบ้าง ไม่เติมอะไรบ้าง ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน  

9. จดบันทึกการประชุม
ควรจดบันทึกการประชุมด้วยความคล่องแคล่ว รวดเร็ว มีสมาธิ บันทึกให้ถูกต้อง และเข้าใจง่าย

10. จัดพิมพ์รายงานการประชุม
หลังจากประชุมเสร็จแล้วควรรีบจัดพิมพ์รายงานการประชุมเพื่อสรุปสาระและมติของที่ประชุมเสนอประธานตรวจ/พิจารณาไม่ควรเกิน 1 วันหลังจากวันประชุม เมื่อประธานตรวจ/พิจารณาเรียบร้อยแล้ว หากมีแก้ไขก็รีบแก้ไขโดยทันทีเพื่อจะได้จัดส่งให้กับผู้เข้าประชุมโดยเร็ว

11. จัดส่งรายงานการประชุมให้ผู้เข้าประชุม
ควรรีบจัดส่งรายงานการประชุมให้ผู้เข้าประชุมทันทีหลังจากที่ประธานตรวจเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะส่งทางโทรสารหรือไปรษณีย์หรืออีเมล์ โดยมารยาทแล้วเราควรโทรศัพท์เช็คเสมอว่าผู้เข้าประชุม (อาจจะเช็คที่เลขานุการหรือผู้ช่วย) ได้รับรายงานการประชุมเรียบร้อยหรือไม่ และเป็นการเช็คด้วยว่ารายงานการประชุมที่เราส่งไปไม่สูญหาย

12. จัดเก็บรายงานการประชุม
ภารกิจสุดท้ายของการประชุมก็คือ การจัดเก็บเอกสารรายงานการประชุม ควรจะจัดให้เป็นหมวดหมู่ จัดแบ่งเป็นรายปี เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย หยิบก็ง่าย หายก็รู้ เมื่อใดที่เจ้านายเรียกดูเราก็สามารถนำเรียนเจ้านายได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลาหาอยู่เป็นนานสองนานไม่ทันการ

1.5 การพูดโทรศัพท์                  
สำหรับหลักสำคัญในการติดต่อทางโทรศัพท์อย่างมีมารยาทนั้น ควรยึดถือความสุภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีผู้ติดต่อมา (กรณีที่ไม่รู้จักกันมาก่อน) เขาจะรู้สึกว่าเขาคุยอยู่กับเจ้านายของเราและองค์กรของเรามากกว่ารู้สึกว่าได้คุยกับเลขานุการหรือพนักงานอย่างเรา (อย่าลืมว่าเราคือตัวแทนของเจ้านายและองค์กร) ความสุภาพจะช่วยให้ผู้ติดต่อมาเกิดความประทับใจ อีกทั้งน้ำเสียงที่ใช้ควรเป็นธรรมชาติ ควรพูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำ ควรฟังอย่างตั้งใจเพื่อความชัดเจนในการบันทึกข้อความ หากเสียงพูดของผู้ติดต่อไม่ดังหรือไม่ชัดเจนก็ควรบอกเขาไปด้วยความสุภาพว่าเราได้ยินไม่ชัดเจน ขอความกรุณาเขาพูดซ้ำเพื่อความชัดเจน นอกจากนี้ หากมีโทรศัพท์ติดต่อผิดเบอร์มาเราก็ควรพูดกับเขาและบอกเขาด้วยความสุภาพเช่นกัน ไม่ควรแสดงอารมณ์รำคาญหรือต่อว่าเขาไป และที่สำคัญควรแม่นยำในเรื่องการให้ข้อมูลเบื้องต้นขององค์กรหากมีผู้ติดต่อสอบถาม

ขั้นตอนการรับโทรศัพท์
  • ควรรีบรับทันทีเมื่อมีเสียงกริ่งโทรศัพท์ดังขึ้น ไม่ควรปล่อยให้ดังเกินนานเกิน 2 ครั้ง
  • ไม่ควรรับโทรศัพท์ไปเคี้ยวอาหารไป
  • หยิบกระดาษ ดินสอเพื่อจดข้อความ ป้องกันการลืม อย่าเชื่อว่าเรามีความจำดี บางคราวเราก็ลืมได้
  • รับโทรศัพท์ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เพราะจะช่วยให้น้ำเสียงที่ออกมายิ้มแย้มตามไปด้วย คนฟังก็จะรู้สึกรื่นหู อยากคุยกับเราด้วย
  • กล่าวทักทายด้วยคำว่า สวัสดีค่ะ/ครับ เพราะจะให้ความรู้สึกสุภาพและนุ่มนวลกว่าคำว่า           ฮัลโหล และบอกให้ทราบว่าเราคือใคร องค์กรชื่ออะไร หรือหากเราจำเสียงหรือทราบชื่อคนที่โทรศัพท์มาได้ก็ควรที่จะเรียกชื่อเขา เขาจะได้รู้สึกดีที่เราจำเขาได้
  • กรณีที่มีคนโทรศัพท์มาขอพูดกับเจ้านายเรา เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อนก็ควรถามเขาว่า ขอประทานโทษค่ะ/ครับ จะให้ดิฉัน/ผมเรียนท่านว่าใครต้องการเรียนสายด้วยคะ/ครับ และกล่าว กรุณารอสักครู่นะคะ/ครับ เพื่อเรียนถามเจ้านายเราว่าสะดวกจะรับสายคนที่ติดต่อมาหรือไม่  หากเจ้านายเรายินดีรับสาย ก่อนที่จะโอนสายให้เจ้านายก็ควรบอกให้เขาทราบว่า เดี๋ยวดิฉัน/ผมโอนสายให้นะคะ/ครับ
หรือหากเจ้านายเราไม่สะดวกจะรับสายกับเขา ก็ถามชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของเขาไว้เผื่อเป็นข้อมูล โดยกล่าว ขอประทานโทษคะ/ครับ ตอนนี้ท่านติดประชุมสำคัญอยู่คะ/ครับ จะฝากข้อความไว้ให้ดิฉันเรียนท่านทราบหลังจากประชุมเสร็จดีไหมคะ/ครับ 
ทั้งนี้ เลขานุการควรรู้จักกลั่นกรองว่าใครขอพูดกับเจ้านายเรา ไม่ใช่ว่าใครต่อใครโทรศัพท์มาก็ให้พูดทุกสาย เพราะบางคราวอาจจะสร้างความรำคาญให้กับเจ้านายและเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ เช่น อาจจะโทรศัพท์มาเพื่อขายประกันหรือขายบัตรเครดิตหรือขายสมาชิกโรงแรม เป็นต้น
  • กรณีที่เจ้านายเราอยู่ในห้องน้ำ หากเป็นผู้ใหญ่ติดต่อมาหรือเป็นคนไม่สนิทกันจริง เราก็ไม่ควรบอกว่าเจ้านายเข้าห้องน้ำ ควรถามชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของเขาไว้ โดยกล่าว ขอประทานโทษค่ะ/ครับ จะให้ดิฉัน/ผมเรียนท่านว่าใครต้องการเรียนสายด้วยคะ/ครับ ตอนนี้ท่านกำลังทำธุระส่วนตัวอยู่ค่ะ/ครับ จะฝากข้อความไว้หรือจะให้ท่านโทร.กลับคุณ (ชื่อที่เขาบอกมา) หลังจากทำธุระเสร็จดีคะ/ครับ 
  • กรณีที่มีคนโทรศัพท์มาขอพูดกับเจ้านายเรา เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน และเจ้านายเรากำลังมีแขกอยู่ ควรถามชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของเขา โดยกล่าว
ขอประทานโทษค่ะ/ครับ จะให้ดิฉัน/ผมเรียนท่านว่าใครต้องการเรียนสายด้วยคะ/ครับ ตอนนี้ท่านกำลังมีแขกอยู่ค่ะ/ครับ จะฝากข้อความไว้หรือจะให้ท่านโทร.กลับคุณ (ชื่อที่เขาบอกมา) หลังจากรับแขกเสร็จดีคะ/ครับ 
  • ทั้งนี้ ควรฟังข้อความที่เขาบอกมาอย่างตั้งใจเพื่อบันทึกข้อมูลได้อย่างชัดเจนและนำเรียนเจ้านายเราทราบได้อย่างถูกต้อง
  • อย่าลืมทบทวนเรื่องที่สนทนาเพื่อทบทวนความถูกต้องในเรื่องที่สนทนาอีกครั้ง
  • จบการสนทนาควรกล่าวลาด้วยคำว่า สวัสดีค่ะ/ครับ
  • อย่าลืมกล่าว ขอบคุณค่ะ/ครับ ด้วยทุกครั้งก่อนวางโทรศัพท์ และ
  • ควรวางหูโทรศัพท์อย่างเบา เพราะจะแสดงให้เห็นถึงมารยาทที่ดี                            

ขั้นตอนการต่อโทรศัพท์
  • ควรเตรียมกระดาษ ดินสอ/ปากกา จดชื่อและเบอร์โทรศัพท์คนที่เรากำลังจะติดต่อด้วย เพื่อป้องกันความผิดพลาดเรียกชื่อผิดๆ ถูกๆ ซึ่งจะเป็นการเสียมารยาทมาก คนที่ถูกเรียกชื่อผิดบางคนอาจจะพาลไม่อยากคุยโทรศัพท์กับเรา เรียกว่าพอเริ่มจับโทรศัพท์เราก็พลาดซะแล้ว  
  • วัตถุประสงค์ที่ต่อโทรศัพท์ ต้องบันทึกไว้ว่าเราจะคุยกับเขาเรื่องอะไร เพื่อไม่ให้ลืมประเด็น
  • อย่าลืมพูดโทรศัพท์ด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เพราะจะช่วยให้น้ำเสียงที่ออกมายิ้มแย้มตามไปด้วย คนฟังก็จะรู้สึกรื่นหู อยากคุยกับเราด้วย
  • กล่าวทักทายกับผู้รับสายด้วยคำว่า สวัสดีค่ะ/ครับ ขออนุญาตเรียนสายคุณ... 
  • ควรพูดโทรศัพท์ในเวลาที่กระชับ ชัดเจน และถูกต้องในประเด็นที่ต้องการจะสนทนา
  • จบการสนทนาควรกล่าวลาด้วยคำว่า สวัสดีค่ะ/ครับ
  • อย่าลืมกล่าว ขอบคุณค่ะ/ครับ ด้วยทุกครั้งก่อนวางโทรศัพท์ และ
  • ควรวางหูโทรศัพท์อย่างเบา เพราะจะแสดงให้เห็นถึงมารยาทที่ดี 
  • กรณีที่เราต่อโทรศัพท์ไปแล้ว หากผู้รับไม่ใช่คนที่เราต้องการติดต่อรับสายเองแล้วเขาบอกจะโอนสายให้ อย่าลืมกล่าวขอบคุณเขาไปด้วย
หรือหากผู้รับบอกว่าคนที่เราต้องการพูดสายไม่อยู่ และเราต้องการฝากข้อความให้ติดต่อกลับ โดยกล่าวว่า ขออนุญาตรบกวนคุณช่วยเรียนคุณ(ชื่อคนที่เราต้องการติดต่อ) โทร.กลับดิฉัน/ผม (บอกชื่อเรา) ที่หมายเลข (บอกหมายเลขโทรศัพท์เรา) ด้วยนะคะ/ครับ ขอบคุณมากค่ะ/ครับ
  • กรณีที่ต่อโทรศัพท์ให้เจ้านาย เมื่อผู้รับสายคือคนที่เจ้านายเราต้องการจะพูดด้วยควรกล่าวสวัสดีค่ะ/ครับ ขออนุญาตเรียนสายคุณ(กล่าวชื่อเขา)คะ/ครับ จาก(ชื่อเจ้านายเรา)ขอเรียนสายด้วยนะคะ/ครับ 
จากนั้นก็โอนสายให้เจ้านายเรา และอย่าลืมเรียนเจ้านายเราด้วยว่า ขออนุญาตค่ะ/ครับท่าน     สายคุณ (บอกชื่อคนที่เจ้านายเราให้ต่อโทรศัพท์ให้) นะคะ/ครับ)
หรือหากต้องติดต่อผ่านเลขานุการก่อน และเราไม่เคยรู้จักเขามาก่อน ถ้าเขารับโทรศัพท์โดยยังไม่ได้แนะนำตัวเอง เราก็ควรแนะนำตัวเองและบอกวัตถุประสงค์ไปโดยกล่าว สวัสดีค่ะ/ครับ ดิฉัน/ผม(บอกชื่อเรา) โทรจาก(บอกชื่อเจ้านายเรา)นะคะ ขออนุญาตเรียนสายคุณ(ชื่อคนที่เจ้านายเราต้องการจะพูดด้วย)คะ/ครับ
หรือถ้าเขาแนะนำตัวเองแล้ว เราก็กล่าว ไม่ทราบว่าคุณ(ชื่อเจ้านายเขา)จะสะดวกไหมคะ/ครับ ถ้า(ชื่อเจ้านายเรา)ขอเรียนสายด้วยคะ/ครับ  
ถ้าเขาบอกว่าสะดวกและจะโอนสายให้ก็อย่าลืมกล่าวขอบคุณ แล้วค่อยโอนสายให้เจ้านายเราไปพร้อมๆ กันกับเขา   
หรือหากเลขานุการบอกว่าเจ้านายเขาไม่อยู่ เราก็ควรจะพูดต่อ ขอประโทษคะ/ครับดิฉัน/ผมเรียนสายอยู่กับเลขาคุณ(ชื่อของคนที่เจ้านายเราต้องการพูดด้วย)ใช่ไหมคะ/ครับ     คุณชื่ออะไรนะคะ/ครับ เมื่อเขาบอกชื่อควรฟังอย่างตั้งใจ เพื่อไม่ให้เสียมารยาทเรียกชื่อเขาผิด จากนั้นควรจะขอเบอร์โทรศัพท์มือถือเจ้านายเขา (กรณีที่เราไม่มี) เพื่อรีบติดต่อให้เจ้านายเรา โดยกล่าว ถ้าจะรบกวนขอเบอร์โทรศัพท์มือถือคุณ(ชื่อเจ้านายเขา) ได้ไหมคะ/ครับ 
ถ้าเขาให้มาก็ควรตั้งใจฟังเพื่อบันทึกให้ถูกต้องและอย่าลืมกล่าวขอบคุณเขาไปด้วย
หรือถ้าเขาไม่สะดวกให้เบอร์โทรศัพท์มือถือ เราก็ควรฝากข้อความไว้ โดยกล่าว ดิฉัน/ผมขอเรียนรบกวนคุณ(เรียกชื่อเขา) ช่วยเรียน(บอกชื่อเจ้านายเขา) ติดต่อกลับ(บอกชื่อเจ้านายเรา)ด้วยนะคะ ที่โทรศัพท์หมายเลข(บอกเบอร์ติดต่อ) และอย่าลืมกล่าวขอบคุณเขาไปด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น